ภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาที่มีวิวัฒนาการเป็นของตัวเอง ถึงขั้นที่ไม่สามารถรวมกลุ่มกับภาษาใดๆ ในโลก (ยกเว้นเกาหลี) ได้ก็จริง แต่ด้วยอิทธิพลจากจีน ที่ญี่ปุ่นรับเอารูปแบบธรรมเนียม รวมถึงตัวอักษรจีนมาใช้ รวมถึงศาสนาพุทธที่นำมาผนวกรวมกับความเชื่อเรื่องเทพเจ้าดั้งเดิม ภาษาบาลีและภาษาสันสกฤตจึงถูกนำเข้ามาในภาษาญี่ปุ่นผ่านศาสนาพุทธและกลืนเป็นเนื้อเดียวกับภาษาญี่ปุ่นเดิม จนบางคำที่ใช้กันจนชินปาก
แม้แต่คนญี่ปุ่นเองหลายคนก็ยังไม่รู้เสียด้วยซ้ำว่า “อ้าว!! เฮ้ยบาลีจริงดิ!!!”
วันนี้ เจ๊เลยขอนำเสนอศัพท์บาลี-สันสกฤตในภาษาญี่ปุ่นบางคำที่คิดว่าหลายคนคงเคยได้ยิน แต่ไม่รู้ที่มาที่ไปกันนะคะ
旦那(danna)
มาจากคำว่า “ทาน” ปัจจุบันใช้ในความหมายว่า “สามี” โดยภรรยามักใช้เรียกแทนสามีตัวเองในการสนทนากับผู้อื่น โดยเปรียบสามีเป็นผู้อภิบาลดูแล จุนเจือเกื้อกูลภรรยาค่ะ
刹那(setsuna)
แปลว่า “ช่วงเวลา ชั่วพริบตา” มาจากคำภาษาสันสกฤตว่า “กษณะ” (บาลีว่า “ขณะ” ค่ะ)
อ้อ!! คำนี้เป็นชื่อของเซเลอร์พลูโตด้วยนะคะ ^^”
お盆(o-bon)
โอบ้ง หรือประเพณีการไหว้สักการะวิญญาณบรรพบุรุษ ซึ่งในปัจจุบันกลายเป็นเทศกาลที่จะมีงานวัด การร่ายรำ งานจุดดอกไม้ไฟในศาลเจ้าใหญ่ๆ ในช่วงฤดูร้อน กร่อนมาจาก “于蘭盆” (urabon) ซึ่งมาจากคำว่า “อุลลัมพนะ” อันเป็นชื่อของพระสูตรในพระพุทธศาสนาอีกทีนึง
ซึ่งพระสูตรนี้กล่าวถึงพระโมคคัลลานะ (目連 mokuren) ไปโปรดแม่ของตนในนรก และเป็นที่มาของประเพณีเซ่นไหว้วันสารทจีน ที่คนญี่ปุ่นรับมาอีกทีและกลายเป็นเทศกาลโอบ้งในปัจจุบันค่ะ
業(gou)
ตัวนี้ถ้าอ่านว่า gyou จะหมายถึงงาน แต่ถ้าอ่านว่า gou ปุ๊บ จะหมายถึงการกระทำค่ะ มาจากคำว่า “กรรม”
เวลาใช้ในชีวิตประจำวัน ที่ใช้บ่อยจะเป็นสำนวนว่า “自業自得 jigoujitoku” แปลว่า “กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นย่อมสนอง” นั่นเอง
魔羅(mara)
เป็นคำสแลงทางพระพุทธศาสนา หมายถึงของลับของพระภิกษุ (นั่นแหละ เจ๊รู้ว่าเธอก็รู้ #หน้าแดงชาด) มาจากคำว่า “มาร” หรือเครื่องยั่วยวนก่อให้เกิดกิเลสค่ะ
อาจหาโอกาสได้ยินยากหน่อย แต่ก็มีใช้เรียกชื่อเป็นการเฉพาะบ้าง อย่างงานประเพณีแห่องคชาต ที่จัดขึ้นทุกวันอาทิตย์แรกของเดือนเมษายนทุกปี ก็เรียกว่างานประเพณีคะนะมะระ (Kanamara Matsuri) แปลตรงตัวคือ ประเพณีองคชาตโลหะ นั่นเองค่ะ
(รายละเอียดงานแห่ อ่านได้ที่โพสของเพจนี่ห้องโชว์ไก่ 日本紹介 นะคะ ข้อมูลเป๊ะเว่อร์!!)
馬鹿(baka)
ปิดท้ายที่คำด่าสุดแสนจะหยาบคายที่แปลว่า “งี่เง่า, โง่, สมองกลับ” เนี่ยแหละค่ะ (นี่หยาบแล้วนะ #เจ๊เพลีย) มาจากคำว่า “โมหะ” ที่แปลตามพระพุทธศาสนาคือ “ความหลง, ความเขลา, ความโง่” ที่เป็นหนึ่งในกิเลสใหญ่ 3 ประการ (โลภะ, โทสะ, โมหะ) นั่นเอง
นอกจากคำที่ยืมมาจากภาษาบาลี-สันสกฤต (ที่ส่วนใหญ่จะเป็นศัพท์ทางพระพุทธศาสนา) ที่กล่าวมาส่วนหนึ่งนี้แล้ว ก็ยังมีคำยืมจากภาษาอื่นๆ อาทิ อาหรับ เกาหลี จีน ฝรั่งเศส ฯลฯ อีกมากมายค่ะ หากใครสนใจเจ๊ว่าก็น่าศึกษาไม่น้อย รู้ไว้ไม่เสียหลายนะคะ ^_^
ที่มา
- ศัพท์ทั้งหมดอ้างอิงจากพจนานุกรม 大辞林 และทานความหมายจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานเป็นหลัก
- ภาพประกอบส่วนที่เป็นภาพวาดจาก http://www.irasutoya.com